การเลือกผ้าม่านและรางม่าน

ติดตั้งผ้าม่าน

การติดตั้งผ้าม่านเป็นอะไรที่ไม่ยากหากเรารู้ว่าต้องการติดตั้งผ้าม่านแบบไหน ใช้รางผ้าม่านแบบไหน แล้วต้องตัดสินใจว่าผ้าสีไหนจะเข้ากับบ้าน อยากได้ผ้าม่านแบบกันแสงUVหรือว่าอยากได้ผ้าม่านแบบธรรมดาไม่จำเป็นต้องเป็นผ้าUV บางห้องมีแดดร้อนต้องการผ้ากันUVเสริมด้านหลัง บางห้องต้องการผ้าโปร่งเพื่อที่จะให้แสงเข้ามาบ้างแต่ไม่ต้องการให้คนมองเข้ามาได้ การเลือกผ้าโปร่งก็ต้องคิดอีกว่าอยากได้ผ้าโปร่งไม่มีลายเป็นสีพื้นหรืออยากได้ผ้าโปร่งแบบมีลวดลายอย่างเช่น ลายปัก ลายฉลุ ฯลฯ

ผ้าม่านที่เลือกก็มีหลายแบบ อยากได้ผ้าม่านหน้ากว้าง 2.80 เมตร หรืออยากได้ผ้าม่านแบบหน้ากว้าง 1.50 เมตร ผ้าม่านหน้ากว้าง 2.80 เมตร ก็จะไม่มีรอยต่อ ผ้าม่านแบบ 1.50 เมตร ต้องมีรอยต่อเวลาตัดเย็บกับหน้าต่างประตูบานใหญ่ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มของผ้าม่านจีบ ผ้าม่านคอกระเช้า ผ้าม่านตาไก่ เป็นต้น ถ้าเราเลือกใช้เป็นผ้าม่านพับจะไม่มีรอยต่อเพราะเป็นแบบที่ใช้กับหน้าต่างที่ไม่กว้าง ถ้าตัดเย็บม่านพับโดยการต่อผ้าจะทำให้เห็นรอยต่อได้ชัด ในกลุ่มของผ้าม่านจีบ ม่านตาไก่ และ ม่านคอกระเช้า ช่างผ้าม่านที่ดีจะซ้อนรอยต่อไว้ข้างหลังลอนเพื่อไม่ให้เห็นรอยต่อ ม่านจีบจะออกแนวคลาสสิคใช้ได้กับบ้านหลายๆคอนเซ็ปต์ส่วน ผ้าม่านตาไก่เป็นผ้าม่านที่ใช้กับบ้านแนวโมเดิร์น ส่วนม่านพับจะใช้ได้ทั้งกับทั้งสองสไตล์เลย

การเลือกผ้าทำม่านก็สำคัญเพราะถ้าเลือกผ้าฝ้ายทำม่านก็จะได้ความสวยของสีพิมพ์ ผ้าฝ้ายเป็นผ้าที่ไม่ร้อนแต่จับฝุ่นง่ายและอาจทำให้ต้องซักผ้าม่านบ่อย ส่วนใหญ่ผ้าทำม่านเนื้อซาตินเจ็คการ์ด จะไม่ยับง่าย เป็นเนื้อผ้าที่ทิ้งตัวดีและไม่จับฝุ่นง่าย

การติดตั้งผ้าม่านต้องคำนึงถึงรางผ้าม่านด้วยครับว่าอยากใช้รางโชว์ รางเชือก หรือ รางไมโคร์เพราะรางแต่ละแบบก็มีจุดแข็งต่างกัน รางเชือกจะใช้ระบบดึงเชือกในการเปิดปิดผ้าม่าน เวลาเปิดปิดม่าน ผ้าม่านจะเปิดปิดทั้งสองข้าง เราไม่สามารถเปิดปิดม่านข้างเดียวได้ ข้อเสียของรางเชือกคืออายุการใช้งาน เมื่อใช้ไปหลายๆปี ตัวเชือกจะเริ่มเสื่อมและอาจทำให้เปิดปิดหน้าต่างขัดๆไม่ลื่นเหมือนตอนแรก

การติดตั้งผ้าม่านโดยรางไมโครเป็นคำตอบสำหรับข้อนี้ ในการเลือกใช้รางไมโคร เราอยากเปิดม่านข้างเดียวก็ได้ หรืออยากเปิดผ้าม่านทั้งสองข้างก็ได้ ระบบรางไมโครไม่ได้ใช้เชือกแต่ใช้ด้ามจูงแทน (หรือเราอยากใช้มือเลยก็ได้) การใช้ด้ามจูงเปิดปิดผ้าม่านจะดีตรงที่ใช้ง่ายและอุปกรณ์ไม่เสื่อมเร็ว ใช้งานได้หลายปี ผ้าม่านก็จะไม่เลอะเพราะเราไม่ต้องจับผ้าม่าน ด้ามจูงสวยๆก็มีให้เลือกมากมาย มีแบบสีขาว สีไม้โอ๊ก สีไม้สัก สีใส เป็นต้น

การติดตั้งผ้าม่านด้วยรางโชว์ก็เป็นที่นิยมกันอย่างมาก รางชนิดนี้ได้ชื่อจากเหตุผลที่ว่ารางชนิดนี้เป็นชนิดที่เราสามารถมองเห็นรางในขณะแขวนผ้าม่าน ถ้าเราเลือกใช้รางไมโครหรือรางเชือก เราจะมองไม่เห็นราง(ยกเว้นถ้าไปดูด้านหลังผ้าม่าน) รางโชว์จะมีหน้าตาที่ดูสวยหรู เพราะเป็นส่วนประกอบหน้าตาของผ้าม่านที่เด่น ไม่เหมือนรางอื่นๆ รางโชว์จะมีหลายสีให้เลือก เราควรที่จะเลือกสีของรางที่เข้ากับสีของผ้าม่านหรือถ้าใช้คอนเซ็ปต์การตัดสี (contrast) ควรที่จะตัดกับสีผ้าม่านโดยให้ทั้งสองสีดูสวยเด่น รางโชว์จะมีหัวรางหลายแบบให้เลือก มีแบบหัวรางหลากหลายมากมาย มีแบบทั้งหรูอลังการและแบบเล็กๆเรียบๆ การเลือกสีรางผ้าม่านไม่จำเป็นต้องเป็นสีเดียวกันกับหัวรางนะครับ อยากได้เป็นรางม่านสีไม้สักและหัวรางเป็นสีทองก็ดูสวย ส่วยใหญ่เท่าที่ดู หัวสีทองหรือเงินเข้ากับรางทุกสีเลยครับ

Read More »

ติดตั้งผ้าม่าน DIY ให้สวย

วิธีการติดตั้งผ้าม่าน DIY ที่ถูกต้องควรทำอย่างไร

เราอาจได้ซื้อผ้าม่านลายสวยๆสีเย็นๆสบายตามาตกแต่งบ้านแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าจะต้องติดผ้าม่านอย่างไรถึงจะให้ดูสวยเหมือนผ้าม่านที่ได้ซื้อมา ถ้าอยากประหยัดก็ไม่จำเป็นต้องจ้างช่างมาติดตั้งเพราะเราสามารถทำเองได้ถ้ามีอุปกรณ์ การติดตั้งผ้าม่าน DIY ทำให้เราได้ความรวดเร็วทันใจด้วยเพราะไม่ต้องรอใครมาติดให้

การติดตั้งผ้าม่านมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ความจริงแล้วการติดตั้งผ้าม่านไม่ได้ยากอย่างที่คิด แต่เราต้องละเอียดเรื่องรักษาความสะอาดห้องและในเรื่องของการวัดขนาดพื้นที่ติดตั้ง การติดตั้งผ้าม่านที่ดีจะทำให้เราใช้ผ้าม่านได้อย่างยาวนาน และไม่ต้องกังวลว่าแสงแดดจะรอดเข้ามาระหว่างหน้าต่างกับผ้าม่าน

อุปกรณ์ติดตั้งผ้าม่านที่ต้องใช้มีดังนี้

รางม่าน
ขารางที่ใช้สำหรับรองรับรางม่าน
หัวโชว์ปิดหัวท้ายของรางม่าน (รางโชว์)
ตะขอแขวนสายรัดม่าน (ม่านรวบข้างใช้ตะขอแขวนเดียวแต่ม่านแยกกลางต้องใช้ตะขอแขวน 2 ตัว)
สว่านสำหรับเจาะผนังเพื่อใส่พุก
ค้อนไว้ตอกพุก
พุกสำหรับใส่สกรู
ไขควงไว้ขันสกรู
สกรูสำหรับยึดขารางม่าน
น๊อตสำหรับยึดรางม่านกับขาราง
ตลับเมตรไว้วัดพื้นที่
ดินสอไว้ขีดเครื่องหมายบนจุดที่จะเจาะสว่าน
ผ้ารองรับฝุ่นเพื่อไม่ให้ฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย
ผ้ากันเปื้อน
เครื่องดูดฝุ่นรุ่นเล็กหรือถ้วยรองรับฝุ่น

ในขั้นตอนแรก ต้องเตรียมพื้นที่สำหรับการติดตั้งโดยการปูผ้ารองเพื่อป้องกันจากความสกปรกของฝุ่นละอองต่างๆ
ในขั้นตอนที่สอง ต้องวัดพื้นที่สำหรับเจาะรูยึดขารางม่านและตะขอสายรัดม่าน ในการหาจุดที่จะเจาะต้องวัดรอบหน้าต่างให้ห่างจากวงกบข้างละ 10 เซนติเมตร (เหนือวงกบ 10 ซมและออกข้าง ข้างอีกข้างละ10ซมเช่นเดียวกัน) เราเผื่อไว้ขนาดนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้แสงผ่านรอดเข้ามาได้ ถ้ามีพื้นที่กำแพงเหลืออีกแค่นิดเดียว ให้ติดรางถึงสุดไปเลยเพื่อเป็นการเติมเต็มความสวยงามในการติดตั้ง เวลาติดผ้าม่านออกมาแล้วจะสวย ดูดีมีระดับ ไม่แคบเกินไป) เราควรวัดพื้นที่ก่อนซื้อรางม่านจะได้เผื่อความยาวรางให้ถูกต้อง
พอวัดดูแล้วว่าจะเจาะรูสำหรับยึดขารางม่านตรงจุดไหนก็ให้ใช้ดินสอมาร์คเอาไว้ ต่อไปให้วัดพื้นที่สำหรับติดตั้งตะขอสายรัดม่านโดยการวัด 1 เมตรเหนือพื้นและห่างจากวงกบข้างละ10 เซนติเมตรเช่นเดียวกัน ผ้าม่านรวบข้างต้องติดตะขอสายรัดม่านแค่ข้างเดียว ให้เลือกด้านที่เรารวบถนัดด้านใดด้านหนึ่ง ผ้าม่านแยกกลางต้องติดตะขอสายรัดม่านทั้งสองข้างของหน้าต่าง
ถึงเวลาต้องเจาะรูผนังเพื่อยึดขารางม่านแล้ว ในขณะการเจาะปกติช่างมืออาชีพมักจะใช้แค่มือเดียวถือสว่านและมืออีกข้างถือถ้วยเล็กๆมารองรับฝุ่นผงไปด้วย หรือช่างบางคนอาจจะใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดฝุ่นไปด้วย เพื่อรักษาความสะอาดและไม่ให้ฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย
พอเจาะรูเสร็จก็ตอกพุกเข้าไป นำขารางม่านมายึดโดยการขันสกรูเข้าพุก การยึดตะขอสายรัดม่านก็ทำในแบบเดียวกัน
เตรียมรางม่านโชว์ให้พร้อมวางโดยการใส่ผ้าม่านเข้าไปทางใดทางหนึ่ง ขันหัวโชว์ปิดที่หัวและท้ายของรางม่าน ถ้าใช้รางโชว์สำหรับผ้าม่านตาไก่ ต้องใส่ผ้าม่านทางช่องห่วงตาไก่ ถ้าเป็นม่านจีบต้องสวมตะขอที่ติดกับผ้าม่านในรูของแต่ละห่วง (ส่วนใหญ่ห่วงรูตะขอจะมาพร้อมกับรางโชว์อยู่แล้ว ถ้าเราเลือกใช้ม่านตาไก่ เราต้องถอดอุปกรณ์ห่วงตะขอนี้ออกก่อนใส่ผ้าม่าน)
เมื่อเตรียมรางม่านให้พร้อมวางแล้ว นำรางมาวางบนขารางม่านที่เราได้ยึดไว้กับผนัง นำห่วงริมสุดของผ้าม่านมาทับระหว่างขารางม่านแต่ละข้างเพื่อที่จะกันไม่ให้ผ้าม่านเลื่อนในเวลาเราเปิดปิดผ้าม่าน หมุนน็อตยึดขารางม่านให้แน่น
ติดตั้งเสร็จเรียบร้อย

ติดตั้งผ้าม่าน DIY ไม่ยากครับ แต่เราต้องมีอุปกรณ์ให้พร้อม การติดตั้งผ้าม่านแบบ DIY ทำให้เราได้ทั้งประหยัดและได้ใช้ผ้าม่านอย่างรวดเร็วทันใจ ไม่ต้องรอช่างมาติดผ้าม่านให้ พอผ้าม่านตัดเย็บเสร็จแล้วก็ใช้ได้เลยถ้าเราติดตั้งเองเป็น

Read More »